วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์กระจูด





กรรมวิธี/ขั้นตอนการเตรียมกระจูด         ก่อนที่จะนำเส้นกระจูดไปสานเสื่อ เพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นั้น ต้องมีการเตรียมกระจูด ซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
          1. ถอนกระจูดที่โตได้ขนาดใช้งานได้ คือ ต้นยาวไม่ต่ำกว่า 1 เมตร แบ่งแยกกระจูดออกเป็นกลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มจะมีความยาวพอ ๆ กัน นำมาตัดหัวตัดปลายให้เรียบร้อย
          2. นำกระจูดไปคลุกกับดินโคลนที่เตรียมไว้ (ดินโคลนดังกล่าว เป็นดินโคลนสีขาวขุ่น , เนื้อดินละเอียด) สาเหตุที่ต้องเคลือบผิวกระจูดด้วยดินโคลนเป็นวิธีการแบบพื้นบ้านเพื่อถนอมกระจูดให้คงทนได้นาน ป้องกันมิให้เส้นกระจูดแตก
          3. หลังจากนั้นก็นำกระจูดที่คลุกดินแล้วไปผึ่งแดดสัก 1 – 2 วัน โดยผึ่งบนลานดินที่สะอาด หรือบนพื้นกระดานจนกว่าจะแห้งสนิท หากไม่แห้งอาจจะมีราขึ้นได้
          4. นำกระจูดที่ตากแห้งแล้ว ทำการลอกกาบที่บริเวณโคนลำต้นออกให้หมด จากนั้นก็ทำการรวบกระจูดทำเป็นมัดหรือเป็นกำ แต่ละมัด/กำ จะมีความยาวเท่า ๆ กัน กระจูด 1 มัด/กำ จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 6 นิ้ว (กระจูด 1 มัด/กำ สามารถสานเสื่อขนาดกว้าง 1.20 เมตร ยาว 2 เมตร ได้ 1 ผืน
          5. ทำการรีดลำกระจูดให้แบนเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งเส้น โดยใช้เครื่องบดลูกกลิ้ง ( “ลูกกลิ้ง” มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ทำด้วยคอนกรีตมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 – 16 นิ้ว ยาวประมาณ 3 ฟุต) เมื่อรีดกระจูดเรียบพอสมควรแล้ว ก็ทำการตำด้วยสากไม้ โดยใช้คนตำ 2 คน หันหน้าเข้าหากัน คนหนึ่งเดินหน้า และอีกคนหนึ่งถอยหลังสลับกันตำ หลังจากตำด้านหนึ่งไปแล้ว 1 – 2 เที่ยว จึงพลิกกลับอีกด้านหนึ่งทำการตำจนทั่วตลอดทั้งเส้น จนกว่าจะได้เส้นกระจูดที่แบนเรียบสม่ำเสมอทุกด้าน สามารถนำไปทำการจักสานได้
 


          ปัจจุบันผู้ผลิตหรือผู้ประกอบอาชีพผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจากกระจูดได้พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีประโยชน์ใช้สอยได้มากขึ้น ตลอดจนมีลวดลายสีสันหลายหลากสี ทั้งนี้ เพื่อความสวยงาม และน่าใช้ จึงมีการนำกระจูดไปย้อมสี ซึ่งกระจูดนี้เหมาะสำหรับการย้อมสีเข้ม ๆ เท่านั้น สีที่นิยมย้อมกันมาก ได้แก่ สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีบานเย็น สีม่วง ฯลฯ
        ประเภทสีย้อมที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการย้อมสีกระจูด คือ สีเบสิค (Basic Dyestuff) เนื่องจากการดูดติดเป็นไปได้ง่าย และรวดเร็วมากเป็นพิเศษ
        ลักษณะเด่นพิเศษของสีย้อมประเภทนี้ ก็คือ มีความสดใสและความเข้มของสีเด่นชัดมาก ความคงทนต่อแสงแดดค่อนข้างดี แต่มีข้อเสียตรงที่มีความคงทนต่อการซักฟอกและการขัดถูค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระจูดซึ่งมีการนำไปใช้ประโยชน์ในวงการแคบ ๆ เฉพาะอย่างเท่านั้น
        ผู้ประกอบอาชีพสานเสื่อกระจูดทั่วไปมักรู้จักสีย้อมประเภทนี้ดี และใช้ประโยชน์เพื่อการย้อมสีกระจูดมานานแล้ว เนื่องจากมีลักษณะพิเศษดังกล่าวประกอบกับเป็นประเภทสีย้อมที่มีราคาปานกลาง หาซื้อได้ง่าย
        สีเบสิค นอกจากจะใช้ย้อมสีกระจูดได้ผลดีแล้ว ยังสามารถปรับใช้เพื่อการย้อมสีวัสดุชนิดอื่น ๆ ที่ใช้ในวงการสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านอื่น ๆ ได้ผลดีอีกด้วย เช่น ป่าน ปอ ย่านลิเพา ผักตบชวา ปาหนัน ไม้ไผ่ และใบลาน เป็นต้น

การย้อมสีกระจูด จำแนกออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ          1. การย้อมสีกระจูดที่ผ่านกรรมวิธีฟอกขาวแล้ว
          2. การย้อมสีกระจูดดิบ และกระจูดที่ผ่านกรรมวิธีฟอกสีด้วยแสงแดด
นักสานเสื่อกระจูดโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะใช้วิธีการย้อมสีกระจูดในลักษณะที่ 2 เนื่องจากเป็นวิธีการที่ง่าย และใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด ส่วนการย้อมสีกระจูดในลักษณะที่ 1 ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากใช้ต้นทุนในการผลิตสูงมาก กรรมวิธียุ่งยาก และเป็นสารเคมีที่มีพิษ

การย้อมสีกระจูด 
          การย้อมสีกระจูดดิบและกระจูดที่ผ่านกรรมวิธีฟอกสีด้วยแสงแดด
ก่อนที่จะนำกระจูดไปย้อมสี จำเป็นต้องนำกระจูดไปฟอกสีด้วยวิธีการตากแดด ซึ่งวิธีการนี้มิใช่การฟอกขาว จึงเหมาะสำหรับการย้อมสีเข้ม ๆ เท่านั้น เช่น สีดำ สีน้ำตาล สีกรมท่า ฯลฯ โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
         1. ทำการรีดลำกระจูดให้แบนราบ โดยใช้เครื่องบดระบบชุดลูกกลิ้ง หรือจะใช้วิธีการแบบพื้นบ้าน เช่น การตำด้วยสากไม้ หรือการเหยียบฟ่อนกระจูดตลอดแนวด้วยเท้า ฯลฯ เพื่อบดทำลายข้อปล้องภายในลำกระจูด เพื่อสะดวกแก่การขดงอลำกระจูดลงในภาชนะรูปแบบต่าง ๆ
          2. ทำการลอกกาบที่บริเวณโคนลำกระจูดออกให้หมด ทำการแบ่งแยกกระจูดออกเป็นกลุ่ม ๆ ละประมาณ 300 – 600 กรัมตามที่ต้องการ แล้วทำการมัดปลายหรือโคนต้น ด้านใดด้านหนึ่งด้วยยางให้แน่น แล้วมัดซ้ำอีกชั้นหนึ่งด้วยเชือกฟาง เพื่อสะดวกในการขนถ่ายระหว่างกรรมวิธีผลิต
          3. นำมัดกระจูดไปทำการซักล้างน้ำเย็นสัก 1 – 2 ครั้ง เพื่อล้างคราบดินโคลน และสิ่งสกปรกบางส่วนออกไป จากนั้นนำไปแขวนทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
          4. นำมัดกระจูดไปต้นในน้ำเดือดประมาณ 15 – 20 นาที เพื่อชะล้างคราบดินโคลนที่เหลือ (หากยังมีคราบดินโคลนหลงเหลืออยู่ จะไปปรากฏเป็นคราบสีขาวเด่นชัดที่ผิวกระจูดหลังการย้อมสี) การทำให้สุกจะเป็นผลให้กระจูดเกิดความอ่อนตัว ย้อมสีติดได้ง่าย และสม่ำเสมอกว่าปกติ จากนั้นนำไปแขวนทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ
          5. นำมัดกระจูดไปซักล้างน้ำเย็น เพื่อล้างคราบดินโคลน และสิ่งสกปรกที่เหลือ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการย้อมสี จากนั้นแขวนให้สะเด็ดน้ำ (ลำดับนี้เคยได้มีการทดลองนำมัดกระจูดที่ผ่านการต้มน้ำเดือดเรียบร้อยแล้ว นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน น้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แสดงว่า ยังมีสีตามธรรมชาติ และสิ่งแปลกปลอมหลงเหลืออยู่ในลำกระจูดอีกมาก
          6. นำกระจูดไปแผ่ผึ่งแดดจัด ๆ บนพื้นราบ ทิ้งไว้สัก 2 – 3 วัน โดยควรทำการกลับลำกระจูดวันละ 1 ครั้ง เพื่อให้การฟอกสีเป็นไปโดยสม่ำเสมอทั่วถึงตลอดลำกระจูด ทั้งนี้ จะต้องทำการเก็บกระจูดเข้าที่ร่มทุกคืน การตากกระจูดทิ้งไว้ค้างคืนเป็นเวลาหลายวัน จะเกิดโรครา ทำให้กระจูดเสียหายได้

1 ความคิดเห็น: