วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ลักษณะของกระจูด

 
"กระจูด" เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีอายุหลายปี เติบโตได้ง่ายและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว    ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขังตามริมทะเลสาบที่เป็นดินโคลนซึ่งเรียกว่า พรุ พบมากทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย  มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Lepironia articulata (Retz.) Domin  เป็นพืชตระกูลเดียวกับกก (Cyperaceae) และจัดอยู่ในสกุลเลบปิโรเนีย (Genus Lepironia) ซึ่งมีลักษณะทางพฤกษศาสตรดังนี้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น (culm)  ลักษณะลำต้นกลม ด้านในกลวง  มีเยื่ออ่อนหยุ่นคั่นเป็นข้อๆ  สีเขียวอ่อน มีขนาดตั้งแต่เท่าก้านไม้ขีดไฟ จนถึงเท่าแท่งดินสอดำ สูงประมาณ 1-2 เมตร  ลำต้นแข็งเป็นกลุ่มแน่นตามแนวของเหง้า มีขนาด 10-20 x 0.2-0.7 เซนติเมตร คล้ายทรงกระบอกผิวเรียบ เหง้ามีเกล็ดสีน้ำตาลอมเทาที่ด้านปลายเล็กน้อย 
ใบ (leave) ใบของกระจูดลดรูปไปแต่มีกาบใบ (leaf sheaths) แผ่ออก กาบบนสุดยาว 12-26 เซนติเมตร ปลายตัดเฉียง (obliquely truncate) ใบประดับรูปลิ่มแคบคล้ายทรงกระบอกมีความยาว 2.2-6 เซนติเมตร
ดอก (flower) เป็นดอกช่อ ประกอบด้วยช่อเชิงลด (spike) จำนวน 1 ช่อ รูปทรงรีหรือรูป  ขอบขนานคล้ายทรงกระบอก มีขนาด 10-35 x 3-7 มิลลิเมตร สีเขียวถึงสีน้ำตาลกาแฟ หรือสีน้ำตาลออกม่วง กาบประดับ (spicoid bracts) รูปไข่หรือรูปทรงกลมแกมไข่มีขนาด 3.2-6.7 x 3-6.2 มิลลิเมตร ปลายมนและมักโค้งลงเล็กน้อยเมื่อแก่เต็มที่จะร่วงง่าย กลุ่มดอกย่อย (spicoids) จะพอๆ กับกาบประดับ (spicoid bracts) กลีบประดับ (floral bracts) มีได้ถึง 15 กลีบ  น้อยที่สุดมี 2 กลีบ รูปหอกแกมแถบมีความยาว 4-6 มิลลิเมตร สันของกลีบเป็นขนครุย
ผล (fruit) เป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับถึงรูปไข่กลับทรงกว้าง ผลนูน 2 ด้าน มีขนาด 3-4 x 2-2.8 มิลลิเมตร (ไม่นับจงอยที่ยาว 0.5 มิลลิเมตร) ผลแข็งสีน้ำตาลผิวเรียบตึง  เป็นแนวเส้นตามยาวไม่ชัด มักมีหนามละเอียดที่ส่วนปลาย

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น