วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ประวัติความเป็นมาของภูมิปัญญา

       
          บ้านบางน้อย เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลท่าเม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีพื้นที่รอบหมู่บ้านอยู่ใกล้กับ ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งมีกระจูดขึ้นตามธรรมชาติ ในบริเวณพื้นป่าพรุ กระจูดเป็นพันธุ์ไม้จำพวกกก ( sdege) ชนิดหนึ่ง มีลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน มีขนาดตั้งแต่เท่ากับหัวไม้ขีดไฟ จนกระทั่งเท่ากับแท่งดินสอนดำ สูงประมาณ 1 – 2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่นคล้ายดอกกระเทียม ที่ข้างลำต้นใกล้กับยอดแต่มีช่อปลายลำต้นอีกช่อหนึ่ง ซึ่งมีใบด้วย กระจูดชอบขึ้นในพื้นที่มีน้ำขังซึ่งเรียกว่า ป่าพรุ
         ป่าพรุควนเคร็ง ของอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นป่าพรุขนาดใหญ่ ที่มีเนื้อที่นับแสนไร่ มีกระจูดขึ้นตามธรรมชาติอยู่บริเวณรอบ ๆ ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบของหมู่บ้านทะเลน้อย ของจังหวัดพัทลุงด้วย ซึ่งอยู่ใกล้กัน ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ชาวบ้านบริเวณรอบป่าพรุ จึงนำกระจูดมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติ ในอดีตชาวบ้านได้นำลำต้นของกระจูดมาจักสานเป็นเครื่องปูลาด เรียกว่า “ สาด” (ภาษาถิ่นภาคใต้ ) หรือ “ เสื่อ” หรือบรรจุภัณฑ์ ที่เรียกว่า “สอบ”หรือกระสอบ จากภูมิปัญญาดั้งเดิมมีการสานกระจูดเฉพาะ เสื่อ และกระสอบ เท่านั้นเพื่อใช้ในการ ปูนอน และตากข้าวเปลือก และใช้กระสอบสำหรับใส่ข้าวสาร หรือเกลือและของใช้อย่างอื่นภายในครัวเรือนและของใช้ในครัวเรือน
        จากคำบอกเล่าของนางหนูพิน อนุวัฒน์ อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 169 หมู่ที่ 1 บ้านควนป้อม ตำบลควนเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าให้ฟังว่า การสานเสื่อกระจูดเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านในท้องถิ่นมาเป็นเวลา 3 ชั่วอายุคนแล้ว สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นมีการสานเพื่อไว้ใช้ในครอบครัว ต่อมามีคนมารับไปขาย จึงทำให้มีรายได้หลังจากการทำนา ทำสวน ด้วยเหตุผลที่หมู่บ้านอยู่ใกล้กับป่าพรุควนเคร็ง ที่มีกระจูดขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ป่านับแสนไร่ ประกอบกับกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์กระจูดบ้านบางน้อยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอชะอวด ได้จัดการฝึกอบรมให้ความรู้โดยการจัดตั้งกลุ่มสนใจฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น ให้กับชาวบ้าน และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอชะอวด และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอชะอวดได้มาให้ความรู้ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์จากกระจูด ขึ้น โดยมีนางพุม หนูรอดเป็นประธานกลุ่ม และได้รับการสนับสนุนตามโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
        การจักสานผลิตภัณฑ์จากกระจูด นับเป็นผลงานหัตถกรรมพื้นบ้านในท้องถิ่นของชาวบ้านบางน้อย หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเสม็ด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งมีนางพุม หนูรอด เป็นผู้ที่เคยเห็นการจักสานกระจูด จากพ่อแม่ ประกอบกับได้รับการถ่ายทอดการจักสานกระจูดจากบรรพบุรุษ จึงมีความสนใจที่จะพัฒนาการจักสานกระจูด ให้มีรูปแบบที่ต่างจากการที่มีการจักสานเฉพาะ เสื่อ และกระสอบ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ที่ได้รับการถ่ายทอดมา จึงทำให้อยากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เป็นที่ต้องการของตลาด ประกอบการการที่ได้รับความรู้ จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอชะอวด และพัฒนาชุมชนอำเภอชะอวด ที่ได้ฝึกอบรมให้ความรู้กับสมาชิกของกลุ่ม ตลอดจนการที่ได้จัดส่งตัวแทนของกลุ่มไปศึกษาดูงาน ที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงทำให้เกิดแนวคิดในการวางแผนและขั้นตอนในการทำผลิตภัณฑ์กระจูดให้เป็นชิ้นขนาดงานเล็ก หรือกระทั่งงานขนาดชิ้นใหญ่สุด เป็นที่ต้องการของลูกค้า
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น