วันอาทิตย์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ผลิตภัณฑ์กระจูด






ผลิตภัณฑ์ต่างๆ กระจูด : ผลิตภัณฑ์
           กระจูด เป็นพันธุ์ไม้จำพวกกก (Sedge) ชนิดหนึ่งในตระกูล Cyperaccae ลักษณะลำต้นกลมกลาง ความสูงประมาณ 1.00 – 3.00 เมตร เป็นพืชที่ชอบขึ้นในบริเวณน้ำขัง ตามริมทะเลสาปที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า “พรุ” มีขึ้นมากที่สุดในจังหวัดนราธิวาส นอกนั้นกระจัดกระจายในจังหวัดนครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา พัทลุง ปัตตานี และตราด
          ต้นกระจูดมี 2 ชนิด คือ จูดใหญ่ และจูดหนู จูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนจูดหนูมีลำต้นเล็กและสั้น ความเหนียวน้อยกว่าจูดใหญ่ โดยทั่วไปราษฎรทางภาคใต้ใช้กระจูดในการสานเสื่อ ทำใบเรือ ทำเชือกผูดมัด และทำกระสอบบรรจุสินค้าเกษตรและสิ่งของอื่น ๆ
          ผลิตภัณฑ์กระจูด เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคใต้ รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่รู้จักทั่วไปคือ “เสื่อกระจูด” หรือ “เสื่อจูด” ภาษาพื้นเมืองภาคใต้เรียก “สาดจูด” การสานเสื่อจูดถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิงสืบทอดจากบรรพบุรุษมาแต่ครั้งอดีตเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนั้นยังสานเป็นผลิตภัณฑ์กระสอบสำหรับบรรจุสิ่งของ เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก น้ำตาล เกลือ ฯลฯ เสื่อจูดที่มีความสวยงามคือ เสื่อจูดประเภทลวดลายสีสันต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของเสื่อภาคใต้ซึ่งได้มีการนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการผลิตมากขึ้น เพื่อสืบทอดงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและเป็นอาชีพเสริม ทำรายได้แก่ครอบครัวราษฎรในชนบท ตามโครงการพระราชดำริ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส
          แต่เดิมการสานเสื่อจูดจะทำกันในแหล่งที่มีต้นกระจูดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นละแวกดินพรุ ปัจจุบัน ต้นกระจูดมีน้อยลง ผู้ผลิตจึงต้องหาซื้อต้นกระจูดจากแหล่งอื่น เช่นที่ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งต้นกระจูดแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของภาคใต้สำหรับกรรมวิธีสานเสื่อจูด
นั้นจะแตกต่างจากการสานเสื่อทั่วไป คือ ชาวบ้านจะนำต้นกระจูดมาคลุกดินขาวก่อนตากแดดให้แห้งแล้วจึงทุบต้นกระจูดให้แบนเพื่อให้มีความนิ่มตัวสำหรับ
ใช้เป็นเส้นสานเสื่อลวดลายที่นิยมใช้สานคือลายสอง เป็นลวดลายประสานขัดกันแน่น เส้นสานเกาะตัวดี ไม่หลุดลุ่ยง่าย
           รูปแบบลายสานเสื่อจูดพัฒนามาจากลวดลายธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ และรูปสัตว์ต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

1. ลายสานเสื่อจูดของชาวไทยมุสลิม
2. ลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธ
           ลายสานเสื่อจูดของชาวไทยมุสลิม มีลักษณะลวดลายสวยงามสลับซับซ้อน ดัดแปลงมาจากลวดลายไทยในธรรมชาติ เอกลักษณ์พิเศษของลายสานชนิดนี้คือ ช่างสานชาวไทยมุสลิมจะไม่สานรูปเหมือนจริง เช่น รูปคน หรือรูปสัตว์ เนื่องจากข้อห้ามตามคตินิยมของศาสนาอิสลาม ลายสานจึงมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ และสามารถพัฒนาลวดลายได้หลายรูปแบบ มีชื่อเรียกต่างกันตามภาษาพื้นเมืองท้องถิ่น แหล่งสานเสื่อจูดประเภทนี้ได้แก่ บ้านทอน ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง และเขตนิคมอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส
           ลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธ มีลักษณะลวดลายสวยงามเช่นเดียวกัน พัฒนามาจากลายไทย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดอกจันทน์ ลายก้านต่อดอก ลายดาวล้อมเดือน เป็นต้น ลายสานบางประเภทมีลักษณะเหมือนกัน ลายสานของชาวไทยมุสลิมแต่ชื่อเรียกต่างกัน ลักษณะลายสานเสื่อจูดของชาวพุทธนี้ไม่จำกัดรูปแบบลวดลายของการสาน โดยจะสานเลียนแบบรูปเหมือนจริงเป็นรูปคน รูปสัตว์ก็ได้ เพราะไม่มีข้อห้ามทางพุทธศาสนา แหล่งสานเสื่อจูดประเภทนี้ที่ทำกันมากอยู่ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บ้านสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และเขตตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช
          การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูดได้เริ่มทำอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2524 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเสื่อจูด เพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างส่งให้กับโรงงานทำผลิตภัณฑ์เสื่อจูดของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ตามโครงการพระราชดำริ โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรชนบทภาคใต้สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากขึ้นตรงกับความต้อง
การของตลาด นอกจากนี้ได้มีการพัฒนาเครื่อทุ่นแรงคือ เครื่องรีดต้นกระจูดให้แบนเพื่อทดแทนการใช้แรงคน เป็นการลดต้นทุนและช่วยให้การผลิตเสื่อจูดรวดเร็วขึ้น
          รูปแบบผลิตภัณฑ์กระจูดที่พัฒนาขึ้นใหม่เป็นลักษณะการตัดเย็บจากเสื่อจูด เย็บริมด้วยผ้าหรือหนังแท้และหนังเทียม แล้วนำมาสอยติดกันขึ้นรูปทรงต่าง ๆ เช่น กระเป๋า แฟ้ม หมวก กรอบรูป ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น คือการใช้เส้นกระจูดควั่นเกลียวเชือก นำมาสานเป็นพนักพิงและพื้นรองนั่งเก้าอี้เครื่องเรือน ตลอดจนการใช้เสื่อจูดบุผนังตกแต่งภายในอาคารหรือทำแผงกั้นห้องแบบฉากกั้นพับได้ เป็นต้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น